จากชิลีถึงมินนีอาโปลิส: จดหมายเปิดผนึก

Categories:

จดหมายฉบับนี้มาจากกลุ่มนักอนาธิปไตยที่เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหว la primera línea1 หรือ “แนวที่หนึ่ง” ที่ปะทุขึ้นมาในชิลีเมื่อปลายปี 2019 และด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับผู้ประท้วงที่ตอบโต้กับการฆาตกรรม จอร์จ ฟลอยด์ เบรโอนา เทเลอร์ และคนผิวดำอีกนับไม่ถ้วน พวกเขาจึงอยากจะแบ่งปันประสบการณ์การลุกขึ้นมาต่อสู้ และชวนถกเถียงถึงความท้าทายที่ต้องเจอในฐานะการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม


“สหรัฐอเมริกาตื่นแล้ว” (Estados unidos despertó)

ละตินอเมริกามองสหรัฐฯ ในฐานะอำนาจจักรวรรดิ ผู้นำเผด็จการของเราถูกสถาปนาขึ้นมาโดยการสนับสนุนของรัฐบาลสหรัฐฯ บรรษัทจากสหรัฐฯ ผูกขาดเศรษฐกิจของเรา สมคบกันขึ้นราคาสินค้าและกดค่าแรง ขณะเดียวกัน วอลล์สตรีทก็ให้เงินแก่พวกโรงงานอุตสาหกรรมที่กำลังปล่อยสารพิษลงสู่แหล่งน้ำ ผืนดิน และร่างกายของพวกเรา ชาวชิลีส่วนใหญ่รู้จักอเมริกาจากภาพยนตร์และโทรทัศน์ ตึกระฟ้ามากมายและความมั่งคั่ง ในวันที่ 18 ตุลาคม ชีลีได้ ตื่นขึ้น [despertó] สถานีรถไฟใต้ดินซานติอาโกถูกปิดตาย2 ร้านวอลมาร์ทจำนวน 1 ใน 6 ทั่วชิลีถูกยกเค้า และการประท้วงก็ปะทุขึ้นเพื่อต่อต้านชนชั้นทางการเมืองหนึ่ง แค่พวกที่อยู่ตรงกลางระหว่างประชาชนกับคนที่ร่ำรวยที่สุด ที่คอยบริหารจัดการประเทศให้สามารถดำรงอยู่ในเศรษฐกิจโลกได้

นับตั้งแต่การจลาจลเพื่อตอบโต้กับตำรวจหลังจากความตายของ จอร์จ ฟลอยด์ สำนักข่าวชิลีไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการแสดงให้เห็นถึงความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางเชื้อชาติ และความโกรธเกรี้ยวของประชาชนที่เกิดขึ้นในอเมริกา เพจมีมของชิลีที่สร้างขึ้นมาในช่วงการจลาจลเมื่อเดือนตุลาคม ได้หันเหความสนใจไปยังความมุ่งมั่นและพลังที่แผ่ไปทั่วท้องถนนของอเมริกา มุมมองจากคนซีกโลกใต้ ก็ดั่งคำพูดของคนขายผลไม้ที่อยู่ข้างบ้านของผม เอสตาดอส ยูนิดอส เดสเปอร์โต (estados unidos despertó) สหรัฐอเมริกาตื่นแล้ว

เราเป็นกลุ่มมิตรสหายที่เขียนจดหมายฉบับนี้แด่พวกคุณที่อยู่ในอเมริกา เพื่อเล่าประสบการณ์ว่าการจลาจลจะมีหน้าตาเป็นอย่างไรถ้ามันดำเนินต่อเนื่องนานหลายเดือน เมื่อรัฐบาลประกาศสภาวะฉุกเฉินและใช้กองกำลังทหาร บีบบังคับให้พลเมืองกลับไปสู่ความเป็นปกติ พวกเขาพยายามที่จะแบ่งแยกโลกสองรูปแบบอย่างชัดเจน ระหว่างการประท้วงอย่างสงบกับอาชญากรรม ระหว่างความปกติกับวิกฤต ระหว่างสิทธิมนุษยชนกับความมั่นคงของรัฐ ระหว่างตำรวจที่ดีกับพวกปลุกปั่น เราอยากจะสะท้อนให้เห็นสิ่งที่เผชิญมาในชิลีเมื่อช่วงไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ เพื่อชี้ให้เห็นว่าการแบ่งแยกเหล่านี้เป็นเรื่องงี่เง่า และเราควรที่จะต่อสู้โดยที่ไม่ต้องไปสนใจมัน

กำแพงที่เอาไว้ระลึกถึงผู้ชุมนุมที่ถูกฆ่าโดยเจ้าหน้าที่รัฐในการประท้วงปี 2019

คืนแรกของการจลาจลนั้นตามมาด้วยการประท้วงอย่างสงบเป็นเวลานานนับสัปดาห์ บนถนนสายเดิมที่เคยเต็มไปด้วยเครื่องกั้นติดไฟ ถนนสายเดียวกับที่ร้านรวงต่างๆ ถูกยกเค้า และกลุ่มวัยรุ่นใส่หน้ากากปาระเบิดโมโลทอฟใส่ฝูงตำรวจ เพื่อตอบโต้กับความไม่สงบ รัฐบาลจึงประกาศสภาวะฉุกเฉินระดับรัฐ และส่งกองกำลังทหารมาตรวจตราตามท้องถนน พวกเขาประกาศเคอร์ฟิวในเวลากลางคืนทันที งดเว้นสิทธิในการรวมตัวกันของประชาชนเป็นเวลา 90 วัน

นับตั้งแต่ยุคเผด็จการ นี่เป็นครั้งแรกที่ทหารถูกเรียกลงมาบนท้องถนน เพื่อตอบโต้การประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชิลี ชิลีถูกพิจารว่าเป็นประเทศประชาธิปไตย แต่ช่างย้อนแย้งที่การประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดของมันกลับเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่การประท้วงเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ขณะที่องค์กรจัดตั้งได้ทำใบปลิวขึ้นมาเพื่อประกาศเริ่มเดินขบวน แต่การประท้วงก็ปะทุขึ้นอย่างไม่ขึ้นตรงต่อใคร ประชาชนออกจากบ้านมาเข้าร่วมชุมนุมเพียงเพราะเขาได้ยินเสียงฝูงชนบนท้องถนน การชุมนุมอย่างสงบถูกจัดตั้งขึ้นทั่วทั้งเมือง ผู้ชุมนุมนำเอาป้ายประท้วงมาถือ ตีหม้อและกะทะ ร้องเพลงร่วมกันบนถนน แต่ว่าพวกเขาเหล่านี้ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกสลายการชุมนุมโดยปืนฉีดน้ำแรงดันสูงและแก๊สน้ำตาของตำรวจ สื่อสังคมออนไลน์ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำให้เห็นความโหดร้ายของตำรวจและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตำรวจทุบตีประชนบนท้องถนน และมีเรื่องราวที่พวกเจ้าหน้าที่ทรมานและล่วงละเมิดทางเพศผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุม กลุ่มสิทธิมนุษยชนทำการรวบรวมเหตุการณ์การละเมิดเหล่านั้น และองค์กรสหประชาชาติก็ส่งคณะกรรมการเพื่อมาสอบสวนการทำงานของตำรวจ

ในท้ายที่สุด การสอบสวนทางสิทธิมนุษยชนก็จะลากยาวไปอีกหลายปี การโต้ตอบเพียงอย่างเดียวที่มีความหมายต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็คือ เราต้องรักษาความขัดแย้งกับตำรวจเอาไว้ การชุมนุมที่สามารถอยู่จนพ้น 30 นาทีไปได้ก็คือการนำเอาเครื่องกั้นมาขวางไม่ให้ตำรวจเข้ามาสลายฝูงชน ให้การรับรองว่าทุกคนมีสิทธิ์ในการชุมนุมและพูดอย่างเสรี สถานีบาคีดาโนเป็นสถานที่ที่ตำรวจเข้าควบคุมฝูงชนและทำร้ายผู้ชุมนุม แต่หลังจากที่ผู้ชุมนุมเอาเครื่องกั้นมาวาง และปิดทางเข้าด้วยหินและยางรถยนต์ มันก็กลายเป็นสถานที่ที่ไม่สามารถปฏิบัติการอะไรได้อีก พื้นที่แห่งการทารุณกลายเป็นพื้นที่แห่งความทรงจำและการต่อต้าน การประท้วงในช่วงเวลาปกติ ผู้คนมักหวาดกลัวกลุ่ม เอนคาปูชาโดส (พวกสวมหน้ากาก) พวกเขาจะตะโกนใส่คนกลุ่มนี้ และพร่ำบ่นว่าจะทำให้ตำรวจเข้ามาใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม แต่เราไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาปกติอีกต่อไปแล้ว ภัยคุกคามที่มาจากการกลับไปสู่เผด็จการนั้นหมายความว่าเรามีเสรีภาพเป็นเดิมพัน และพลังเดียวที่จะปกป้องสิทธิของทุกคนเอาไว้ได้ก็คือพลังของประชาชนบนท้องถนน พลังของพวกเขาเอง

ภาคส่วนนี้ของการประท้วงจึงถูกรับรู้ในชื่อ ลา พรีเมรา ลีนีอา (la primera línea) หรือ “แนวที่หนึ่ง” ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่จะปาหินใส่ตำรวจ และเหล่าวัยรุ่นที่คอยถือโล่ป้องกัน ตามมาด้วยแนวที่สอง ประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่ยิงเลเซอร์ แนวที่สามคือผู้ประท้วงถือขวดสเปรย์ และเหยือกน้ำเพื่อหยุดการทำงานของแก๊สน้ำตา และแนวที่สี่คือหน่วยพยาบาลที่คอยพยุงผู้บาดเจ็บไปปฐมพยาบาล

พวกแนวที่หนึ่งเปิดโอกาสให้วัฒนธรรมการประท้วงหลายๆ รูปแบบสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ในเวลาต่อมา การเต้นแบบพิคาชู การแสดงบนท้องถนน การตะโกนร้องเพลงรูปแบบใหม่ และวงดนตรีเดินขบวน พวกเขารวมตัวกันทุกวันศุกร์ที่ดิกนิแดดพลาซ่า บางคนที่ไม่เคยเผชิญหน้ากับตำรวจก็มาเข้าร่วมได้ ลองปาหินใส่ตำรวจ หรือไม่ก็ฝึกดับแก๊สน้ำตา หลายปีก่อนมันเป็นเรื่องที่ไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่าเหล่า เอนคาปูชาโดส ที่เคยถูกมองว่าอาจเป็นได้ทั้งตำรวจนอกเครื่องแบบหรือพวกวัยรุ่นบ้าบิ่น จะกลายมาเป็นฮีโร่ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไปได้ หลังจากวันที่ 18 ตุลาคม องค์กรจัดตั้งนับไม่ถ้วนก็เริ่มต้นระดมทุนสำหรับการช่วยเหลือทางกฎหมายและการรักษาพยาบาลให้กับพวกแนวที่หนึ่ง ที่น่าประหลาดใจที่สุดก็คือ มีคนจากกลุ่มนี้ถูกเชิญไปพูดเกี่ยวกับความโหดเหี้ยมของตำรวจในงานประชุมสิทธิมนุษยชนละตินอเมริกา ผู้คนที่มายังพลาซ่าเพื่อขายอาหาร น้ำดื่ม หรือเบียร์ พวกเขามักจะแบ่งปันอาหารและเครื่องดื่มให้กับคนอื่นๆ เพื่อเตรียมพร้อมในการไปเข้าร่วมกับแนวที่หนึ่ง

เราไม่ใช่ศัตรูของพวกคุณ เราคือประชาชน

ในตอนเริ่มต้น พวกเรากลัวและกังวลเกี่ยวกับการขโมยของและการวางเพลิง เพราะสถานีรถไฟใต้ดินและสำนักงานถูกไฟไหม้ไปแล้ว ข่าวลือแพร่ออกมาว่ามันคือความพยายามของตำรวจในการสร้างภาพให้ผู้ประท้วงดูเลวร้าย เพื่อที่การออกมาของกองทหารจะเป็นสิ่งชอบธรรม หรือบางทีอาจจะเป็นพวกแก๊งอาชญากรรมที่ฉวยโอกาสนี้ในการปล้นตู้เอทีเอ็ม ร้านขายยา และร้านชำ แม้ว่าจะผ่านไปหลายเดือน เราก็ยังไม่รู้ว่าการกระทำไหนกันแน่ที่เป็นฝีมือของตำรวจ แต่ความพยายามในการกดปราบผู้ชุมนุมด้วยการทำให้พวกเขาหวาดกลัวการเทคโอเวอร์ของทหารหรือแก๊งอาชญากรรมกลับไม่ได้ผลเลย ผู้ชุมนุมยังคงปักหลักอยู่บนท้องถนนเช่นเคย คำเตือนของทหารเรื่องการทำลายทรัพย์สินก็ไม่มีผลกระทบอะไรเช่นกัน การที่ทหารปราบปรามการประท้วงแบบสงบรังแต่จะทำให้ประชาชนหันมาป้องกันตนเองมากขึ้น เครื่องกั้นถูกนำออกมาวางเพื่อสกัดยานพาหนะของทหาร ใช้หินและอิฐปาเข้าไปเพื่อไม่ให้พวกนั้นเข้ามาใกล้ ร้านรวงถูกปล้นมากขึ้น สิ่งที่ถูกขโมยไม่ใช่สินค้าแต่เป็นวัสดุอุปกรณ์ที่จะนำมาสร้างที่กั้น เรามาถึงจุดที่ผู้ชุมนุมสามารถพูดได้เต็มปากว่า ทรัพย์สินที่เป็นของสถาบันต่างๆ นั้นแสดงให้เห็นถึงความละเลยในหน้าที่ของตัวมันเอง

ในห้วงเวลาที่น่าหวาดกลัวและไม่แน่นอนเช่นนี้ ทุกฝ่ายหวังว่าความไม่สงบในชิลีจะไปสู่บทสรุปอย่างรวดเร็ว ก็คือประธานาธิปดีลาออกจากตำแหน่ง มีการร่างรัฐธรรมนูญร่วมของประชาชน และเราสามารถสร้าง “ความปกติ” แบบใหม่ ที่เราจะได้ใช้ชีวิตอย่างมีเกียรติ แต่ตอนนี้ความปกติแบบใหม่นั้นยังไม่เกิด โรคระบาดโควิด-19 ทำให้การลงประชามติรัฐธรรมนูญยืดเยื้อออกไป และรัฐบาลเดิมที่ไม่มีความชอบธรรมก็ยังคงครองอำนาจในนามของการจัดการวิกฤตทางสาธารณสุขและเศรษฐกิจ

ยังคงเร็วเกินไปที่จะพูดว่าการจลาจลที่อเมริกาในตอนนี้จะนำไปสู่อะไร แต่เราอยากชี้ให้เห็นว่าการมองหาบทสรุปที่รวดเร็วนั้นอาจจะเป็นการยอมจำนนที่เกิดจากความกลัว ที่คนหลายล้านยังคงเสแสร้งว่ามันไม่เป็นอะไร ว่าชีวิตยังเป็นปกติ วิกฤตยังคงมีอยู่ต่อให้จะเป็นภาวะฉุกเฉินหรือภาวะปกติ แต่แค่เพียงภาวะฉุกเฉินเท่านั้นที่ประชาชนไม่เกรงกลัวที่จะแสดงออกถึงความไม่พอใจ และหาทางออกว่าแท้จริงแล้วพวกเขาอยากมีชีวิตแบบไหนกันแน่

  1. la primera línea, first line, แนวที่หนึ่ง เป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในประเทศชิลีเมื่อเดือนตุลาคม 2019 สาเหตุของการรวมตัวประท้วงนั้นมาจากราคาบัตรรถไฟใต้ดินปรับตัวสูงขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และการทุจริตของรัฐบาล พวกเขาเรียกร้องให้มีการปรับแก้โครงสร้างทางเศรษฐกิจ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การชุมนุมประท้วงยืดเยื้อเป็นเวลาหลายเดือน มีทั้งการชุมนุมแบบสงบ การทำลายข้าวของ การจลาจล การขโมยของในร้านรวงต่างๆ ทำให้รัฐบาลชิลีต้องใช้กองกำลังมหารเข้ามาควบคุมและประกาศเคอร์ฟิว ตอนนี้สถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย เพียงแต่การชุมนุมต้องหยุดชั่วคราวจากโรคระบาดโควิด-19 

  2. สถานีรถไฟใต้ดินซานติอาโกเป็นสถานที่แรกที่เกิดการประท้วง มีการเผาทำลายทรัพย์สิน อาคารสถานที่ ก่อนที่การประท้วงจะขยายไปทั่วชิลี